โครงการ “วรรณคดีวิจักษ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา”

ณ  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

และเทศบาลตำบลต้นคราม อำเภอ บางปลาม้า สุพรรณบุรี

            การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  เป็นพันธกิจหลักที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา  เพื่อเป็นการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมกับการบูรณาการกับพันธกิจด้านการเรียนการสอน และการบริการทางวิชาการ  โดยการดำเนินงานจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ในระหว่างอาจารย์ผู้สอน และผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่คำนึงถึงความแตกต่างเฉพาะตัวของนักศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อความสนใจใฝ่รู้และศักยภาพในการแสวงหาความรู้ของนักศึกษา  อีกทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนภายนอกสถาบัน ซึ่งสามารถจัดการงานทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน เผยแพร่วัฒนธรรมไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น       

         “วรรณคดีวิจักษ์” เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ  สามารถสะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นๆ  โดยการสอดแทรกแนวคิด  คติสอนใจและปรัชญาชีวิต  ดังนั้นวรรณคดีวิจักษ์จึงมีคุณค่าทั้งในด้านประวัติศาสตร์  สังคม  อารมณ์และคติสอนใจ  รวมทั้งการตระหนักในคุณค่าของศิลปกรรมและวรรณกรรม ความนิยม ความซาบซึ้ง  นอกจากวรรณคดีวิจักษ์จะเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนในชาติแล้ว วรรณคดีวิจักษ์ยังเป็นเครื่องเชิดชูอารยธรรมของชาติและยังมีคุณค่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้คนสามารถรับรู้เรื่องราวในอดีต 

คณะกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นความสำคัญของวรรณคดีวิจักษ์ ซึ่งเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรม เรื่องราวความเป็นมาและค่านิยมของสังคมแต่ละสมัย จึงได้จัดโครงการ “วรรณคดีวิจักษ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา”       ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและชุมชนได้ทราบถึงการแจ้งความร้องทุกข์ การมีหมายเรียกไปเป็นพยานในศาล การเตรียมตัวก่อนไปศาล และการซักถามพยานในศาลในสมัยโบราณและปัจจุบัน อันเป็นการบูรณาการพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม กับการเรียนการสอนวิชากฎหมาย กระบวนวิชา LAW๓๐๑๑ กฎหมายลักษณะพยาน และกระบวนวิชา LAW๔๐๐๒ การว่าความและการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย และการบูรณาการกับการบริการทางวิชาการแก่สังคม