โครงการ “บูรณาการกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กับภูมิปัญญาท้องถิ่น”

ณ ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ  ตำบลบ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

           กระบวนการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕  ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยการจัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและยืดหยุ่นได้  มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ในระหว่าง  อาจารย์ผู้สอน  และผู้เรียน  การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่คำนึงถึงความแตกต่างเฉพาะตัวของนักศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อความสนใจใฝ่รู้และศักยภาพในการแสวงหาความรู้ของนักศึกษา  อีกทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนภายนอกสถาบัน          ซึ่งสามารถแสดงออกเป็นศิลปะ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ระบบศีลธรรมจริยธรรม หรือวัฒนธรรม ตลอดจนการบูรณาการการเรียนการสอนเข้ากับพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการบริการทางวิชาการ  เพื่อเสริมสร้างการศึกษาหาความรู้และประสบการณ์อย่างรอบด้าน

          “วัฒนธรรม” หมายถึง แบบอย่างหรือวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนแต่ละชุมชน วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน  วัฒนธรรมที่ดียังต้องเป็นวัฒนธรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชุนด้วย  หากแต่วิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนจะยั่งยืนและจะถ่ายทอดแต่ละรุ่นนั้น  ก็ต่อเมื่อชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง  และเห็นความสำคัญและคุณค่าของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม  สืบเนื่องมาจาก อ่างทองเป็นจังหวัดที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ประชาชน     มีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่เดิมพื้นที่ในแถบนี้มีอาชีพทำอิฐและเหลาไม้ก้านธูป เมื่อยามที่ฝนตก     น้ำท่วมไม่สามารถเผาอิฐหรือตากธูปได้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการทำมาหากินช่วงหน้าฝน          ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรที่ตำบลบางเสด็จ               มีพระราชดำริว่า น่าจะมีอาชีพเสริมอย่างอื่น โดยทรงคำนึงว่าชาวบ้านมีทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมอยู่แล้ว คือ ดินเหนียวที่ใช้ทำอิฐ ประกอบกับทรงระลึกถึงตุ๊กตาไทยที่เรียกว่าตุ๊กตาชาววังนั้นหาดูได้ยากเกือบจะ   สูญสิ้นไปหมดแล้ว หากจะฟื้นฟูขึ้น ก็น่าจะช่วยสืบสานศิลปหัตถกรรมไทยแบบโบราณของไทยได้อีกอย่างหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ และอาจารย์เสริมศรี บุนนาค จากวิทยาลัยเพาะช่าง มาสอนปั้นตุ๊กตาชาววัง โดยมีการจัดตั้งโครงการปั้นตุ๊กตาไทยขึ้น  ตุ๊กตาชาววังทำจากดินเหนียวแสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ สุภาษิตคำพังเพยไทย เป็นต้น

          คณะกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้เห็นความสำคัญของการสืบสานศิลปหัตถกรรมไทยแบบโบราณของไทย เรียนรู้การปั้นตุ๊กตาด้วยดินเหนียวที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีไทยมาบูรณาการกับการเรียนการสอนวิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (LAW4009)  ในเรื่องของลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรว่างานในศิลปหัตถกรรมนั้นจัดเป็นงานประเภทศิลปกรรมประเภทประติมากรรมอันมีลิขสิทธิ์และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่

           ในการนี้ จึงเห็นควรให้มีการจัดโครงการ “บูรณาการกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากับภูมิปัญญาท้องถิ่น” อันก่อให้เกิดการส่งเสริมและการพัฒนาชุมชนเป็นการสร้างคุณค่ากับการอนุรักษ์งานศิลปะและวัฒนธรรมเชิงประเพณีของวิถีชุมชนซึ่งมีการสืบทอดเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าแก่สังคมเพื่อการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาได้ตระหนักถึงวัฒนธรรมที่ดีและอนุรักษ์สืบต่อไป